วันอังคารที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2554

[Thai Contemporary : 2 Album] ราตรีประดับดาว ๑ และ ๒

ห่างหายไปนานจากการโพสเพลง ทั้งๆ ที่อัพไว้นานแล้ว รวมทั้งที่ซื้อมาเก็บเอาไว้อีกเพียบ วันนี้นำเพลงไทยประยุกต์มาฝากกัน อัลบัมชุดราตรีประดับดาว นำเพลงที่เราคุ้นเคยมาเรียบเรียงใหม่ โดยเน้นไปทางเครื่องสี คือ ซอ โดยนายการเวก ใครพอจะรู้บ้างว่าตัวจริงคือใคร ขอทางว่าเป็น อ.ชัยภัคร ผิดถูกอย่างไร ใครทราบช่วยเฉลยหน่อยนะคะ





รายชื่อเพลง:
1 ราตรีประดับดาว
2 เขมรพวง
3 ลาวเจ้าซู
4 มยุราภิรมย์
5 พม่าประเทศ
6 ไทยน้อย
7 คลื่นกระทบฝั่ง
8 ลมพัดชายเขา
9 คางคกปากสระ
10 โยสลัม

หยิบไปฟังได้ที่นี่ Mediafire, Rapidshare (MP3 320 Kbps, RAR 104.69 MB
)





รายชื่อเพลง:
1 ลาวกระทบไม้
2 ลาวสมเด็จ
3 ตับพระลอ ภาค 1
(ลาวเล็กตัดสร้อย - ลาวเล่นน้ำ - ลาวกระตุกกี่ - ลาวกระแตเล็ก)
4 ตับพระลอ ภาค 2
(ดอกไม้เหนือ - ลาวเฉียงตัดสร้อย - ลาวครวญ - ลาวกระแซ
5 นกไซบินข้ามทุ่ง - ลาวรำดาบ

หยิบไปฟังได้ที่นี่ Mediafire, Rapidshare (MP3 320 Kbps, ZIP 80.02 MB)


เราจะฟังเพลงสนุกได้อรรถรสมากขึ้น ถ้าเราทราบประวัติที่มาความเป็นเป็นไปของเพลงเหล่านี้ ว่าแล้วเราไปดูกันเลยค่ะ

ประดับดาว ๑

๑ ราตรีประดับดาว (อัตรา ๓ ชั้น)
เพลงเถา เพลงนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชนิพนธ์ขึ้นจากเพลงเพลงมอญดูดาวสองชั้น ประเภทหน้าทับมอญ มี ๑๑ จังหวะ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ โดยมีพระราชประสงค์ จะใช้หน้าทับปรบไก่ จึงได้เพิ่มทำนองครบตามจังหวะหน้าทับ พร้อมทั้งทรงพระราชนิพนธ์บทร้องขึ้นสำหรับขับร้องโดยเฉพาะ เพลงราตรีประดับดาวนี้เป็นเพลงแรกที่ทรงพระราชนิพนธ์ มีผู้เสนอตั้งชื่อเพลงนี้ถวายหลายชื่อ เช่น ดาวประดับฟ้า ดารารามัญ ฯลฯ ต่อมวงมโหรีหลวงได้นำเพลงนี้ไปบรรเลงกระจายเสียงที่สถานีวิทยุ ๗ พีเจ( HS 7 PJ) ณ ศาลาแดง โฆษกประกาศชื่อว่า " ราตรีประดับดาว " ซึ่งเป็นชื่อที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงคิดขึ้นเอง จึงใช้ชื่อนี้ต่อมา เพลงนี้มีความหมายในเชิงความรักสดชื่น

๒ เขมรพวง (อัตรา ๒ ชั้น)
เพลงเขมรพวงสองชั้น เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าเพลงเขมรพระประทุมเป็นเพลงทำนองเก่า ประเภทหน้าทับปรบไก่ มี ๒ท่อน ท่อน ๑ มี ๔ จังหวะ ท่อน ๒ มี ๖ จังหวะ หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) นำมาแต่งขยายเป็นอัตราสามชั้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙ โดยแต่งให้เป็นทางกรอ สำเนียงเขมร และให้เข้าคู่กับเพลงเขมรเลียบพระนคร ส่วนทำนองชั้นเดียวได้แต่งในเวลาต่อมา ใน พ.ศ. ๒๔๖๔ หมื่นประคมเพลงประสานใจ (ใจ นิตยผลิน) ได้แต่งตัดเป็นอัตราชั้นเดียว เป็นทำนองที่แตกต่างไปจากทางของหลวงประดิษฐไพเราะ ( ศร ศิลปบรรเลง) ส่วนทำนองร้อยชั้นเดียว นายเหมือน ดูรยประกิต เป็นผู้แต่ง นอกจากนี้ราว พ.ศ. ๒๔๖๐-๒๔๖๒ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต โปรดให้จางวางทั่ว พาทยโกศล แต่งตัดในอัตราชั้นเดียว ครบเป็นเถา อีกทางหนึ่ง โดยให้มีทั้งทำนองเที่ยวต้นและเที่ยวเปลี่ยน เวลาบรรเลงและขับร้องจะดำเนินทำนองสองเที่ยว เพลงทางนี้ เมื่อรวมทั้งเถาทุกอัตราจังหวะ จะมีความยาวรวม ๑๒ ท่อน ทรงเขียนเป็นโน้ตสากล ประทานให้กองดุริยางค์ทหารเรือสำหรับบรรเลงวงโยธวาทิต

๓ ลาวเจ้าซู (อัตรา ๒ ชั้น)
เพลงนี้ไม่มีข้อมูล ทราบเพียงว่ามีการนำทำนองมาทำเพลงไทยสากลที่ขับร้องโดย ม.ร.ว. ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ ในเพลงที่ชื่อว่า “ หวงรัก ” คำร้องโดย สมศักดิ์ เทพานนท์

๔ มยุราภิรมย์
เพลงประกอบลีลาท่ารำ เรียกระบำนกยูง หรือระบำมยุราภิรมย์ เป็นระบำที่ใช้ประกอบการแสดงละครในเรื่องอิเหนา ตอน " หย้าหรั่นได้นางเกนหลง " เป็นเพลงซึ่งไม่มีบทร้องประกอบ นายมนตรี ตราโมท แต่งทำนองเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕ ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี ประดิษฐ์ท่ารำ

๕ พม่าประเทศ
เพลงสำเนียงพม่า หม่อมหลวงต่วนศรี วรวรรณ แต่งเพื่อใช้ประกอบละครพันทางที่มีเนื้อเรื่องและตัวละครสัญชาติพม่า เพลงนี้ต่อมากรมประชาสัมพันธ์ได้เรียบเรียงทำนองสำหรับออกอากาศนำก่อนทำการเทียบเวลา ๐๘.๐๐ น. และ ๑๘.๐๐น.

๖ ไทยน้อย (อัตรา ๒ ชั้น)
เพลงทำนองเก่าในชุดระบำชุมนุมเผ่าไทย ซึ่งนายมนตรี ตราโมท แต่งในช่วงแรกเรียกว่าทำนองไทยน้อย ส่วนอีกทำนองหนึ่งบรรจุอยู่ในเพลงชุดประวัติศาสตร์ไทยซึ่งบรรจุในเพลงตามบททำนองเพลงนี้บรรจุไว้ในตับพระยาแกรก บทพระนิพนธ์ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิประพันธ์พงศ์

๗ คลื่นกระทบฝั่ง (อัตรา ๒ ชั้น)
๑.เพลงอัตราจังหวะสองชั้น ทำนองเก่า รวมอยู่ในเรื่องเพลงฉิ่งโบราณ มีเพลงฟองน้ำ เพลงฝั่งน้ำ และเพลงคลื่นกระทบฝั่ง บรรเลงติดต่อกัน สำหรับทำนองเพลงคลื่นกระทบฝั่งที่มีทำนองและเรียกชื่อในปัจจุบันนี้ เป็นเพลงที่มีลีลาเดียวกับเพลงฝั่งน้ำในเรื่องเพลงฉิ่งโบราณ สังคีตาจารย์ท่านหนึ่ง ได้นำทำนองเพลงฝั่งน้ำมาบรรเลงขับร้องครั้งแรกได้เรียกชื่อเพลงว่า คลื่นกระทบฝั่ง คนทั่วไปจึงเรียกชื่อตามจนกลายเป็นชื่อเพลงว่า " คลื่นกระทบฝั่ง " นับเป็นชื่อเพลงที่คลาดเคลื่อนจากทำนองเดิมตั้งแต่นั้นมา เพลงนี้ได้นำไปขับร้องและบรรเลงประกอบการแสดงโขนละครกันอย่างแพร่หลายนกจากนี้ยังได้บรรจุไว้ในเพลงตับวิวาห์พระสมุทร ซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย

๒. เพลงโหมโรง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้นำเพลงคลื่นกระทบฝั่งสองชั้นทำนองเก่ามาพระราชนิพนธ์เป็นเพลงโหมโรง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔ เพื่อใช้เป็นเพลงโรงเสภาและนับเป็นอันดับที่ ๓ ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์ ลีลาทำนองเพลงนี้ทรงสอดแทรกลูกล้อ ลูกขัด ลูกเหลี่ยมตลอดทั้งเพลงเพื่อให้เกิดความคึกคัก รุกเร้าอารมณ์ บรรยายธรรมชาติของคลื่นลมในทะเลอย่างกลมกลืน เพลงนี้ใช้กับหน้าทับสองไม้


๘ ลมพัดชายเขา (อัตรา ๒ ชั้น)
เพลงลมพัดชายเขาอัตราสามชั้นและสองชั้น เป็นเพลงทำนองเก่า ประเภทหน้าทับปรบไก่ มี ๒ ท่อน ท่อนละ ๔ จังหวะ ในอัตราสองชั้น นิยมนำมาใช้ขับร้องในการแสดงละคร ต่อมามีนักดนตรีไม่ทราบนาม แต่งตัดในอัตราชั้นเดียว ครบเป็นเพลงเถา

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔ นายมนตรี ตราโมท นำเพลงลมพัดชายเขา สามชั้นมาเรียบเรียงเป็นเพลงตับ เรียกว่า เพลงตับลมพัดชายเขา เป็นลักษณะตับเพลงมี ๔ เพลง โดยนำบทร้องจากบทละครต่างๆมีดังนี้

๑ เพลงลมพัดชายเขา ใช้บทร้องจากเรื่องอิเหนา

๒ เพลงลมหวน ใช้บทร้องจากเรื่องขุนช้าง-ขุนแผน

๓ เพลงแขกมอญบางช้าง ใช้บทร้องจากเรื่องอิเหนา

๔ เพลงเหราเล่นน้ำ ใช้บทร้องจากเรื่องขุนช้าง-ขุนแผน


เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๒๐ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานบทร้องแก่คณะเสริมมิตรบรรเลงทรงเลือกบรรจุเพลง ” ลมพัดชายเขาเถา ” นายเฉลิม บัวทั่ง ซึ่งเป็นผู้ควบคุมวง จึงแต่งทำนองใหม่ตลอดทั้งเถา เพื่อบรรเลงถวายใช้๒ แบบคือ

- แบบแรกบรรเลงโดยใช้ทางเปลี่ยนที่แต่งใหม่เที่ยวแรกตามด้วยทางพื้น(ของเก่ษ) ในเที่ยวที่ ๒ ตลอดทั้งเถา

- แบบที่ ๒ บรรเลงโดยใช้ทางเปลี่ยนที่แต่งใหม่ทั้ง ๒ เที่ยวตลอดทั้งเถา เพลงนี้แต่งเสร็จเมื่อ วันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๐

๙ คางคกปากสระ (อัตรา ๒ ชั้น)
เพลงอัตราจังหวะชั้นเดียวทำนองเก่า ใช้ประกอบการแสดงละคร เป็นเพลงที่มี ลีลา ทำนองและจังหวะกระชั้น รุกเร้า ชวนให้อารมณ์คึกคักสนุกสนาน เพลงนี้มีท่อนเดียว ส่วนในอัตราจังหวะสามชั้น หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) แต่งไว้ตั้งแต่สมัยเป็นจางวางศร เมื่อครั้งอยู่วังบูรพาใน พ.ศ. ๒๔๗๐ ส่วนทำนองทางร้อง คุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลงแต่ง

๑๐ โยสลัม (อัตรา ๒ ชั้น)
เพลงอัตราจังหวะสองชั้น ทำนองสำเนียงฝรั่ง ใช้ประกอบการแสดงละคร มาแต่โบราณ เพลงนี้ นายอุทิศ นาคสวัสดิ์ นำไปแต่งเป็นเพลงเถา เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ บางที่เรียกชื่อเพลงนี้ว่า โยสลัม


ประดับดาว ๑

๑ ลาวกระทบไม้
หรือเพลงลาวลอดค่ายสองชั้น สำเนียงลาว ใช้ประกอบการแสดงละคร และนำไปบรรเลงประกอบการรำ เช่น รำลาวกระทบไม้ เป็นต้น เนื้อร้องแต่งโดย ครูมนตรี ตราโมท เพลงนี้ใช้ขลุ่ยน้ำเต้าเป็นเครื่องดนตรีนำ

๒ ลาวสมเด็จ (อัตรา ๒ ชั้น) ร้องประสานเสียงโดย คุณ กนกพร ทัศนะ
เพลงลาวสมเด็จสองชั้น เป็นเพลงทำนองเก่า สำเนียงลาว ประเภทหน้าทับลาว มีท่อนเดียวเป็นเพลงเกร็ด เป็นเพลงเก่าที่นิยมบรรเลงในวงปี่พาทย์และเครื่องสายโบราณ ต่อมามีผู้นำไปบรรเลงประกอบการแสดงละคร เรือเอก ชิต แฉ่งฉวีได้แต่งขยายเป็นอัตราสามชั้นและแต่งตัดเป็นอัตราชั้นเดียวครบเป็นเพลงเถา พร้อมทั้งแต่งทางเปลี่ยนในอัตราสองชั้นบรรเลงติดต่อกัน เพลงนี้แต่งเสร็จเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๒ เพลงนี้ นายเจริญ แรงเพ็ชร ได้แต่งขยายและแต่งตัดเป็นเพลงเถาไว้ทางหนึ่งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๙ เมื่อครั้งที่มีการประชันวงปี่พาทย์ที่วัดห้วยจระเข้ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม นอกจากนี้ นายพินิจ ฉายสุวรรณ ยังได้นำมาแต่งขยายและแต่งตัดครบเป็นเพลงเถาอีกทางหนึ่งด้วย

๓ ตับพระลอ(ตับเจริญศรี) ภาค ๑
- ลาวเล็กตัดสร้อย เพลงลาวเล็กสองชั้น สำเนียงลาว ใช้ประกอบการแสดงละคร
- ลาวเล่นน้ำ เพลงลาวเล่นน้ำสองชั้น สำเนียงลาว หม่อมหลวงต่วนศรี วรวรรณ แต่งทำนองประกอบการแสดงละครและบรรจุไว้ในเพลงลาวเจริญศรี
- ลาวกระตุกกี่ เพลงลาวสามท่อนสองชั้น เป็นเพลงทำนองเก่า ประเภทหน้าทับสองไม้ มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ลาวกระตุกกี่ ต่อมาหลวงประดิษฐไพเราะ(ศร ศิลปบรรเลง) ได้นำทำนองมาแต่งขยายเป็นอัตราสามชั้นและแต่งตัดเป็นชั้นเดียวครบเป็นเพลงเถา สำเร็จเมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ เรียกชื่อใหม่ว่า เพลงสาวเวียงเหนือ
- ลาวกระแตเล็ก เพลงกระแตเล็ก เป็นเพลงขับร้อง ทำนองเก่าของล้านนา เทียบทำนองเท่ากับเพลงอัตราสองชั้น เพลงนี้บางทีเรียกชื่อว่า เพลงกระแตตัวเมีย

๔ ตับพระลอ ภาค ๒
- ดอกไม้เหนือ เพลงเถา นายอุทัย แก้วละเอียด แต่งจากเพลงดอกไม้เหนือสองชั้น ซึ่งเป็นเพลงในตับลาวเจริญศรี เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๑๗ และได้นำออกบรรเลงครั้งแรก ณ โรงละครแห่งชาติเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๑๗ นอกจากนั้นนายเฉลิม บัวทั่ง ยังได้แต่งเพลงดอกไม้เหนือเถาขึ้นอีกทางหนึ่ง

- ลาวเฉียงตัดสร้อย เพลงลาวเฉียงสองชั้น สำเนียงลาว ใช้ประกอบการแสดงละครเป็นเพลงหนึ่งในตับลาวเจริญศรี

- ลาวครวญ เพลงเถา เพลงนี้ในอัตราสองชั้นเป็นทำนองเก่า เป็นเพลงท่อนเดียวมี ๔ จังหวะ ประเภทหน้าทับลาวเพลงตับในเรื่องพระลอและเพลงตับลาวต่างๆ นายถีร์ ปี่เพราะ ได้นำมาแต่งขยายเป็นอัตราสามชั้นและแต่งตัดเป็นชั้นเดียว ครบเป็นเพลงเถา ทั้งทำนองทางดนตรีและทางร้องเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๐ โดยครั้งแรกที่แต่งผู้แต่งมีความประสงค์จะใช้บรรเลงด้วยวงอังกะลุง เพลงนี้นำออกแสดงครั้งแรกเมื่อ วันที่ ๑๕ เมษายน ๒๔๙๑ สำหรับบทร้องนำจากบทละครเรื่องพระลอพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ต่อมานายเฉลิม บัวทั่ง ได้แต่งขยายและแต่งตัด ครบเป็นเพลงเถาอีกทางหนึ่ง เป็นทำนองดนตรี ส่วนทางร้องนางบุญชู ทองเชื้อ แต่ง

- ลาวกระแซ เพลงลาวกระแซสองชั้น ทำนองเก่าประเภทหน้าทับสองไม้ มี ๒ ท่อนสำเนียงลาว เพลงนี้เป็นเพลงสุดท้ายในตับลาวเจริญศรี นายเฉลิม บัวทั่ง ได้นำทำนองมาแต่งขยายเป็นอัตราสามชั้นและแต่งตัดเป็นอัตราชั้นเดียว ครบเป็นเถาทั้งทำนองดนตรีและทำนองร้องเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๑

- ตับพระลอ ( ตับเจริญศรี) ประกอบด้วยเพลง เกริ่น ลาวเล็กตัดสร้อย ลาวเล่นน้ำ สาวกระตุกกี่ กระแตเล็ก ดอกไม้เหนือ ลาวเฉียง ลาวครวญ ลาวกระแช

๕ นกไซบินข้ามทุ่ง – ลาวรำดาบ
- นกไซบินข้ามทุ่ง เป็นลายเพลงทางภาคอิสานของเก่า ครูเปลื้อง ฉายรัศมี ผู้แต่ง ที่จินตนาการถึงลีลาการบินของนกไซ(นกปากใหญ่) ที่มีลักษณะบินสูงสูงต่ำต่ำ เนื่องจากบินไม่ค่อยเก่ง โดยอาจารย์ทรงศักดิ์ ปทุมศิลป์ อาจารย์ประจำวิทยาลันนาฏศิลป์ร้อยเอ็ด เป็นผู้นำมาเผยแพร่

- ลาวรำดาบ เพลงลาวรำดาบสองชั้นไม่มีบทร้อง นายมนตรี ตราโมท แต่งขึ้นใหม่ให้มีสำเนียงลาวสำหรับบรรเลงประกอบละครเรื่อง พญาผานอง เนื้อเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของจังหวัดน่านโดยใช้บรรเลงตอนหมู่เด็กประลองดาบกัน ละครเรื่องนี้นำออกแสดงครั้งแรก ณ โรงละครศิลปากร เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๑

เพลงตับ หมายถึง เพลงที่บรรเลงเป็นเรื่อง มีแขนงย่อยแบ่งออกเป็น ตับเรื่อง และตับเพลง
๑. ตับเรื่อง มายถึง เพลงที่นำมารวมร้องและบรรเลงติดต่อกัน มีบทร้องที่เป็นเรื่องเดียวกัน และดำเนินไปโดยลำดับ ฟังแล้วรู้เรื่องโดยตลอดตั้งแต่ต้นจนจบ ส่วนทำนองเพลงจะเป็นคนละอัตรา คนละประเภท หรือหมายถึง เพลงที่ร้องและบรรเลงประกอบการแสดงโขนและละครที่เป็นเรื่อง เป็นชุด หรือเป็นตอน ตัวอย่างของเพลงตับเรื่อง เช่น ตับนางลอย ตับพระลอ(ตับเจริญศรี)
๒. ตับเพลง หมายถึง เพลงที่นำมารวมร้องและบรรเลง จะต้องมีสำนวนทำนองสอดคล้องต้องกัน คือ มีเสียงขึ้นต้นเพลงคล้ายๆ กัน คือ สำเนียงคล้ายๆ กัน เป็นเพลงในอัตราจังหวะเดียวกัน เช่น เป็นสองชั้นเหมือนกัน หรือสามชั้นเหมือนกัน ส่วนบทร้องจะมีเนื้อเรื่องอย่างไร เรื่องเดียวกันหรือไม่ ไม่ถือเป็นสิ่งสำคัญ)

Credit: บ้านน้าเพลงไทย

2 ความคิดเห็น: